ETRAN จากความฝัน สู่ยานยนต์พลังงานสะอาด

“พันธกิจของผม เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ผมเกิดมา แล้วคุณแม่ตั้งชื่อผมว่า ‘เอิร์ธ’ ซึ่งแปลว่าโลกแล้ว” นี่เป็นมิชชันของ ‘เอิร์ธ’ สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) สตาร์ตอัพฮาร์ดแวร์รายแรกของไทย ผู้พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดภายใต้แบรนด์ ETRAN

‘เอิร์ธ’ สรณัญช์ ผู้บริหารหนุ่มวัย 34 ปีเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Cleanness mobility) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เขาถือว่าพันธกิจของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เขาลืมตาดูโลก ด้วยชื่อของเขา เขาอยากทำให้โลกดีขึ้น ประกอบกับคุณแม่ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปลูกฝังด้านสิ่งแวดล้อมมาให้ตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้อยู่ในใจของเขามาโดยตลอด

เขาเป็นเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานประจำ คุณแม่เป็นข้าราชการ คุณพ่อทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ไม่เคยทำธุรกิจ ไม่ใช่บ้านนักธุรกิจ แต่เขาเริ่มทำงานกับกลุ่มเพื่อนที่เป็น Co-Founder ของETRAN ตั้งแต่ปี 2 ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เพราะอยากทำงานมากกว่าเรียน อยากหาเงิน หาประสบการณ์ ที่ได้ลงมือทำงานจริงๆ จึงเปิดบริษัทให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ(Design Consulting Firm)ชื่อ MIA Collaboration ตั้งแต่เรียนปี2 จนปีพ.ศ.2555 ตอนนั้นอายุ 25 ปี

“โครงการขนาดใหญ่ที่ทำตอนนั้นมี KidZania – ศูนย์การเรียนรู้และความบันเทิงสำหรับเด็กที่สยามพารากอน โรงแรม, อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงงานออกแบบผลิตภัณฑ์อย่าง ‘ก๊อกน้ำประหยัดวัสดุประหยัดน้ำที่สุดในโลก’ ซึ่งเคยได้รับรางวัล Red Dot Design award เป็น Best of The best สตูดิโอของเราติดอันดับ 1 ใน 10 ‘The Most Innovative Design Studio of The World’ โดย Red Dot Design award ด้วยเช่นกัน”

ทำไปสักพักเริ่มอิ่มตัว จึงขยับจากงานดีไซน์มาเป็นงานที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม (innovation consulting firm) ดูแลลูกค้าขนาดใหญ่อย่าง DTAC, TQM ประกันภัย รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลาย ๆ ราย ได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริหารระดับสูงในการขับเคลื่อนการออกแบบ

รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ Digital Venture บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่นั่นทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องของสตาร์ตอัพ ซึ่งในตอนนั้นคำว่า ‘สตาร์ตอัพ’ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทยเท่าไรนัก

“ผมได้เข้าใจโลกของการลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้น จึงนำประสบการณ์ของการเป็นที่ปรึกษา รวมเงินเดือนที่ได้จากธนาคารไทยพาณิชย์มาเริ่มลงทุนใน ETRAN” เขานึกย้อนไปถึงวันนั้น

จุดเริ่มต้นของ ETRAN

ช่วงก่อนมาทำอีทรานคือช่วงที่เขาทำงานที่ปรึกษา เป็นงานที่ทำให้เขามีเงินมากพอระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ตอบความรู้สึกลึก ๆ ในใจ เขารู้สึกว่ายังไม่ได้ทำให้โลกกันดีขึ้น ทำแต่ให้ลูกค้ารวยมากขึ้น ช่วยปัญหาใหญ่ ๆ ให้ลูกค้าได้ แต่โลกไม่ได้ดีขึ้นมา

และวันหนึ่ง…วันที่เปลี่ยนชีวิตของเขาจากพนักงานประจำสู่วิถีสตาร์ตอัพ วันนั้นเขาต้องใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ แล้วรู้สึกเหม็นควันรถในท้องถนนมาก และรู้สึกว่านั่งไม่สบาย ระหว่างโดยสารอยู่หลังพี่วิน เขาเกิดความคิดว่าจะดีกว่าไหมถ้าพี่วินได้ใช้รถที่เหมาะกับงานที่เขาทำ เขามีความรู้สึกว่าเขาน่าจะมีความสามารถในการออกแบบรถมอเตอร์ไซต์ที่เหมาะกับคนที่ต้องใช้มอเตอร์ไซต์เป็นพาหนะหลักในชีวิตประจำวันและใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ และที่สำคัญหากเขาได้เขาจะช่วยให้พี่วินเหล่านี้ไม่สร้างมลพิษและควันพิษเหม็น ๆ แบบที่เขากำลังสูดดมอยู่ระหว่างโดยสาร

เมื่อจับ 2 ประเด็นมาเจอกัน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม และเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงเกิดมาเป็นธุรกิจออกแบบและผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอีทราน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านไป 6 ปี

ในประเทศไทยมีรถมอเตอร์ไซค์ประมาณ 22 ล้านคัน (มากกว่ารถยนต์) ค่าใช้จ่ายสำหรับการมีรถมอเตอร์ไซต์ เริ่มตั้งแต่ค่าผ่อนสินเชื่อรถ ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา หากสามารถช่วยเขาประหยัดต้นทุนได้แปลว่าเขาจะเหลือเงินในกระเป๋ามากยิ่งขึ้น

“ถ้าเราช่วยเขาให้ประหยัดไปได้เดือนละสัก 2,000 บาท หนึ่งปี 24,000 บาท สามปี 70,000 กว่าบาท เงินจำนวนนี้อาจจะเป็นค่าเทอมลูกเขา หรือนำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยไม่ต้องรอสวัสดิการเจ็บป่วย เลยทำให้ประเด็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต กลายเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มาขับเคลื่อนเรา เพราะเราไม่อยากเพิ่มรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปในถนน เราต้องการช่วยให้มันดีขึ้น เลยเป็นที่มาของคำว่า ‘เราตั้งใจทำให้โลกมันดีขึ้นหรือว่าเรียกว่า Drive a Better World’”

ทำไมต้องเป็น ETRAN

เอิร์ธ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยลงทุนทำมาแล้วหลายธุรกิจ ตอนนั้นเขามมีเงินไม่มากพอที่จะไปเริ่มเองทุกอย่าง จึงไปเป็นหุ้นส่วนกับธุรกิจของเพื่อน ๆ เพื่อเรียนรู้ว่าธุรกิจทำอย่างไร อาทิ ร้านตัดขนหมา ร้านอาหาร ร้านขายเพชร ทำน้ำมะพร้าวส่งออก ขายข้าวแกง แต่ส่วนมากเจ๊ง เพราะเขาไม่ได้มีเวลาเข้าไปทำเองจริง ไม่ได้เรียนรู้ว่าขั้นตอนการทำไฟแนนซ์ หรือว่าการบริหารทรัพยากรบุคคล

ชื่อ ‘เอิร์ธ (Earth)’ ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขาเหมือนดวงดาวมันเรียงกันพอดี ตอนเด็ก ๆ เขาได้รับการปลูกฝังด้านสิ่งแวดล้อมมาจากคุณแม่ที่เป็นเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตอนที่เรียนที่สาธิตจุฬาฯ เขาเป็นประธานชมรมสังคม 3 ปี เขารู้สึกว่าหนึ่งในพันธกิจที่เขาต้องทำให้ได้ในชีวิตนี้คือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เขายังไม่เคยเจอธุรกิจอะไรที่สามารถโจทย์สิ่งที่เขาต้องการได้ว่า ทำแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี ต้องมีผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ETRAN เป็นธุรกิจแรกที่โดนใจทั้ง 3 จุด เขาเลยไม่ลังเล โทรหาเพื่อน บอกเขาว่าคิดออกแล้ว จะทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า…

“คืนแรกผมเปิด Data Research ให้เพื่อนดู เพื่อนก็เริ่มวาดรถกัน วันนั้นมีการวาดรถออกมาหลายรูปแบบมาก คำนวณความเป็นไปได้ ออกแบบ 3 มิติกันบ้าคลั่งมาก จำได้ว่ากลับบ้านประมาณตี 4 ก่อนกลับเพื่อนถามผมว่า “แล้วจะยังไงต่อดี” ผมก็บอกว่า เดี๋ยวเราจะลองเอาไปทำสรุปไปให้แล้วจะลองไปคุยกับลูกค้าที่เราให้คำปรึกษาเขาดู ลองเสนอไอเดียดูว่าถ้าเกิดเราทำแบบนี้มีใครสนใจไหม”

เมื่อคิดและลงมือทำ ด้วยความสามารถที่มีทั้งการออกแบบและการผลิตไม่ใช่ปัญหา แต่โจทย์ใหญ่ที่เขาต้องตีให้แตกคือ เขาจะขายใคร ตลาดของอีทรานอยู่ที่ไหน ในวันแรก ๆ ดูเหมือนเขาจะต้องผ่านด่านทดสอบนี้ไปให้ได้ เขานำไปเสนอบริษัทใหญ่แต่ไม่มีใครตอบรับไอเดียเขา แม้ว่าจะเห็นด้วยว่าเป็นไอเดียที่ดี แต่ไม่เกิดดีลทางธุรกิจ

หนึ่งในลูกค้าที่นำไปเสนอคือ BTS Group ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าที่เขาให้คำปรึกษาอยู่ เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจขนส่งจึงไปเสนอไอเดีย วันแรกก็ล้มเหลวกลับมา

“ลองนึกย้อนไป 6 ปีที่แล้ว มีคนบอกว่าจะทำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ทุกคนก็ไม่เชื่อ ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำว่ามันเป็นยังไง แบตเตอรีดีมั้ย วิ่งเร็ว วิ่งไกลยังไง เรามีแต่สไลด์ 20-30 หน้า วิเคราะห์การตลาดไป ทำแผนธุรกิจไปนำเสนอ ก็เลยเฟลตั้งแต่วันแรก ไม่มีคนเข้าใจ”

เขาและทีมไม่ท้อและไม่เลิก เขาบอกว่า โดนปฏิเสธมาหลายที่ติดกันหลายวัน มีอยู่วันหนึ่งที่เกือบจะหมดแรง แต่ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่ทำมีตลาดเพียงแต่เขายังหาไม่เจอ วันนี้เหนื่อยหมดแรงก็พักแล้วพรุ่งนี้ออกไปลุยต่อ

ตอนนั้นก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ทำเอง เอาเงินเดือนที่ได้จากค่าที่ปรึกษา มาเริ่มทำมอเตอร์ไซค์คันแรกที่มันเป็นไฟฟ้าขึ้นมา เรียนทางดีไซน์มา ฉะนั้น ด้านวิศวกรรมเขาจะอ่อนมาก เลยใช้วิธีค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วค่อย ๆ ลองประกอบให้มันกลายเป็นรถที่วิ่งได้  วิ่งได้จริงนะ แต่ประสิทธิภาพมันอาจยังไม่ได้

“เราเริ่มเอาไปทดสอบกับกลุ่มลูกค้า เริ่มจากพี่วินมอเตอร์ไซค์ให้เขาทดลองใช้สินค้าของเรา เอาไปให้คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทดลองใช้ ซึ่งเราทำวิจัยกับคนขับประมาณ 400 ท่าน ทุกคนชอบดีไซน์ของรถเรา แปลกดี เท่ดี ผลสำรวจออกมาก็คือเราเป็นเบอร์ 2 ของตลาด จากเป็น 10 กว่าแบรนด์ 30 รุ่น”

ผลสำรวจบอกว่า 3 สิ่งที่คนขับต้องการมากที่สุด คือ
1) ประสิทธิภาพ – ต้องไม่ต่ำกว่ารถน้ำมัน ซึ่งวันนั้นเขายังทำไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าต้องใช้อะไรถึงจะวิ่งได้เร็ว ต้องตั้งค่ายังไง เทคโนโลยีทำยังอย่างไรถึงจะได้ประสิทธิภาพเท่ากัน
2) คือเรื่องดีไซน์ – อยากได้รถที่เขาชอบ ดีไซน์สวย ๆ เป็น Social status แบบหนึ่งที่ผู้ใช้งานเขาต้องการ และ
3) ซื้ออย่างไร ราคาเท่าไหร่ วันนั้นเขาเริ่มคิดโมเดลการให้เช่า

ช่วงนั้น Sharing Economy เริ่มเติบโต คนไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทุกอย่าง บริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะสมาชิกเกิดขึ้นมาก จึงเริ่มทดสอบแนวคิดรื่องการเช่ารถมอเตอร์ไซค์กับกลุ่มผู้ใช้งาน ซึ่งครึ่งหนึ่งเห็นด้วย แต่อีกครึ่งหนึ่งยังรู้สึกว่าเขาควรจะเป็นเจ้าของรถ แต่อีกครึ่งหนึ่งเห็นความสำคัญว่า จริง ๆ ไม่ต้องเป็นเจ้าของก็ได้ ซึ่งจริง ๆ โมเดลนี้มีอยู่แล้วแบบ อู่แท็กซี่ ที่เช่าขับรายวัน แต่ใน 2 ล้อ ยังไม่มี

เขาคิดว่าโมเดลธุรกิจแบบเดิมอาจจะไม่ใช่ เขาจะทำแค่สินค้าออกมาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองประสบการณ์รอบ ๆ ด้วยว่าคนจะมากล้าใช้ กล้าลองรถได้อย่างไร พอเราเห็นว่าสิ่งที่เขาคิดมาอย่างน้อย 2 ใน 3 ถูกต้องแล้ว เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้น

ไม่มีพื้นฐานวิศวกรรม แต่มาทำรถไฟฟ้า?

เอิร์ธ บอกเรื่องพื้นฐานวิศวกรรมไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องเงิน ถือเป็นเรื่องใหญ่มากในการทำธุรกิจ ยิ่งเป็นธุรกิจที่รวมกันระหว่างยานยนต์และพลังงาน ซึ่งธุรกิจที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capital) ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ธุรกิจพลังงาน ยานยนต์ และเทคโนโลยี แปลว่าเขากำลังทำ 3 ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่พร้อมกัน 

“สิ่งที่น่าสนใจ คือ 3 อย่างนี้เวลาเจอกันจะเปลี่ยนแปลงโลกทุกครั้ง อย่างแรกที่ คือ การเกิดขึ้นของรถไฟ จะนำพาความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่ที่ปกติเดินทางเข้าถึงลำบาก การเกิดขึ้นของโทรศัพท์ทำให้เราติดต่อสื่อสารกันได้ การเกิดขึ้นของยานยนต์หลาย ๆ รูปแบบทำให้เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนได้ คนสามารถค้าขายได้ง่ายมากขึ้น เมื่อสามอย่างนี้เจอกันทีไรโลกจะเปลี่ยนทุกครั้ง”

วันนี้พลังงานเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป พลังงานจากฟอสซิล พลังงานจากแหล่งพลังงานธรรมชาติมีแต่จะหมดไป ราคาจะสูงขึ้น ยานยนต์เองมีการเดินเข้ามาสู่เทคโนโลยีไฟฟ้าเรียบร้อย เป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนรถไฟเป็นไฟฟ้า แต่กลับใช้ถ่านหินหรือใช้น้ำมันในการสร้างพลังงาน ไปปั่นมอเตอร์ไฟฟ้า

ในศตวรรษนี้ ปี 2000  ถ้าทำให้เรื่องของ พลังงาน ยานยนต์ และเทคโนโลยี มาเจอกันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ซึ่งเขามั่นใจว่าเขาและทีมทำได้ เรื่องยากที่สุด คือ เขาจะหาเงินอย่างไร มาทำให้ตรงนี้มันเกิดขึ้น

ถึงเวลาหาเงิน…

ช่วงแรก เขาเอาเงินได้จากการทำงานที่ปรึกษามาทำต้นแบบ เขาเอารถตู้ไปขายเปลี่ยนเป็นสองล้อ ทำอยู่ได้ประมาณหนึ่งเดือนใช้เงินไปห้าแสนบาท จนได้ตัวต้นแบบออกมา จากนั้นเขาติดต่อไปที่ฝ่ายนวัตกรรมปตท. และได้เข้าไปนำเสนอแนวคิดของอีทรานในงานของโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพของ Digital Venture Accelerator Batch 0 ในงานนั้นอีทรานเป็นสตาร์ตอัพฮาร์ดแวร์รายเดียว ในขณะที่รายอื่นเป็นเรื่องการเงิน และแอปพลิเคชัน

“เขาขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นเวทีเลย เขาชอบนะ มาลองรถเรา ปรากฎว่าควันขึ้น พัง เจ้าหน้าที่ของปตท. บอกว่าเดี๋ยวมาคุยกัน”

จากตรงนั้นทำให้เขาได้เซ็นต์ MoU แรกกับปตท. ได้เงินก้อนแรกมาทำตัวต้นแบบ 10 คันเพื่อทดสอบเทคโนโลยี ระหว่างนั้นเขาก็ลองทำต้นแบบกับบริษัทอื่นดูด้วย เพราะอยากรู้ว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่จะรีดประสิทธิภาพออกมาให้ดี ซึ่งพันธมิตรแต่ละรายมีการตรวจสอบความถูกต้องที่แตกต่างกัน สุดท้ายได้เงินสนับสนุนมาประมาณ 10 ล้านบาท มาผลิตต้นแบบ

หลังจากได้ต้นแบบมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การผลิต เขาใช้โมเดลของการหาพันธมิตร จนได้มาเจอกับ       บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และตัวถังรถยนต์ อันดับต้น ๆ ของเอเซีย จึงเข้าไปนำเสนอว่าต้องการผลิตรถตามต้นแบบ รถแบบนี้ ปัจจุบันมีผู้สนับสนุนประมาณนี้ อยากเอาต้นแบบของเรามาทำที่ซัมมิทได้หรือไม่

“ต้องขอบคุณบริษัทซัมมิทที่เชื่อในตัวเรา ให้การสนับสนุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อการผลิต ตั้งแต่วันแรกที่เราตั้งใจจะผลิต ทีมของเราได้เริ่มเข้าไปทำงานกับซัมมิท ตั้งแต่เรามีต้นแบบคันแรก”

เขาบอกว่า MoU ทำกับปตท.มีผลอย่างมากที่ช่วยให้มีผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมในการ R&D ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตได้ต้นทุนที่เหมาะสม เครื่องมือเป็นอย่างไร

“ถ้าไม่มีซัมมิท เราต้องลงทุนกันจริง ๆ ต้องกู้เงินเป็นหลายร้อยล้านในการทำรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมา แต่วันนั้นเราไม่มีเลย ซัมมิทให้เราใช้โรงงานซัมมิท รถมอเตอร์ไซค์ 10 คัน 100 คันใช้เงินเป็น 10 ล้านบาท เราจึงเริ่มระดมทุนครั้งแรก รอบ pre-series A ต้นแบบที่พิสูจน์แล้วว่า มีจุดที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่ดีมากต่อผู้ใช้อยู่ในตลาดที่ใหญ่มากพอ (Product/Market Fit) ควรเป็นตลาดกลุ่มไหน มีผลการทดสอบที่พอใช้ได้ ระดุมทุนรอบแรกได้มาประมาณ 18 ล้านบาท จากนักลงทุนอิสระ (Angel investor)”

โดย 18 ล้านบาทที่ได้มาสามารถทำให้เขาเริ่มลงทุนในเรื่องของโมลด์การผลิต เช่น ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก การขึ้นชิ้นงานเหล็กต่าง ๆ ได้ และเขาทำต้นแบบออกมาอีกประมาณ 15 คัน จากเงินประมาณ 18 ล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มนำรถที่ผลิตได้มาตรฐานจากโรงงานจริงไปให้ผู้ใช้งานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทดลองใช้งาน

ออเดอร์แรก 1,000 คัน

ตอนนั้นนำไปร่วมทดสอบกับ Robinhood ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหาร บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) เขามีนโยบาย อยากให้คนขับใช้รถ EV เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) เขาก็เอาไปทดสอบ ปรากฎว่ารถอีทรานชนะเป็นอันดับ 1 ทำให้มีคำสั่งซื้อจากเพอร์เพิล เวนเจอร์ส เข้ามา 1,000 คัน

“เราสามารถมาถึงจุดที่มีลูกค้าชัดเจนแล้ว แล้วเป็นจุดที่ทำให้เราต้องระดมทุน series A เข้ามาอีกรอบ รวม ๆ แล้วทำให้เราสามารถเริ่มการผลิตแบบ mass production ได้อย่างแท้จริง”

ก่อนหน้าที่จะได้ออเดอร์นี้ เขาได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการเริ่มทำวิจัย ทำให้เขาได้เงินลงทุนมาอีกประมาณ 16.7 ล้านบาทจากรัฐบาลในการวิจัยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งตอนนั้นเขาก็ดีใจมากแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐสนับสนุน

“พอมาได้ข้อตกลงทางการค้า (commercial deal) 1,000 คันจาก Purple Ventures ยิ่งทำให้เราคิดว่าสิ่งที่เราตั้งใจมาตลอด 5 ปี จากที่วันแรกไม่มีใครเชื่อ จนเราสามารถชนะใจคนขับได้  ชนะใจกลุ่มผู้ใช้งานจริงได้ สุดท้ายเราก็เจอทาง ว่าทางไหนที่มันใช่เรา” เอิร์ธ กล่าวอย่างภูมิใจ

“ผมว่าโลกมันรับไม่ได้กับมลภาวะเลยเกิดภาวะ climate change ขึ้นมา เราเห็นว่าเกิดปะการังฟอกขาว เห็นว่าหมีขั้วโลกไม่มีน้ำแข็งยืน เราเห็นว่าคนต้องใส่หน้ากากเดินอยู่บนท้องถนน โลกกำลังบอกเราว่าอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะต้องทำอะไรที่ดี”พอเริ่มมีสินค้าออกสู่ตลาด เริ่มมีกลุ่มผู้ใช้งานเกิดขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อน …

“มีคนยอมรับเรา จากแบรนด์ที่ไม่มีใครรู้จัก จนมีชื่อ ETRAN อยู่ในสื่อ ในโซเชียลมีเดีย จนมีงานเปิดตัวจน มีกิจกรรม มีคนติดตาม มีนักข่าวเริ่มมาตามเรา ต้องยกเครดิตให้กับผู้ร่วมก่อตั้งและทีมงานทุกคนที่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้”

เขากล่าวว่า จริง ๆ คำว่า ‘ETRAN’  มันมาจากหนังเรื่อง Mission Impossible คือ พระเอก Ethan Hunt เขาชอบได้โจทย์ยาก ๆ ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ ที่ต้องแข่งกับเวลา เป็นความเป็นความตายของโลกใบ เขาจึงสร้างแรงบันดาลใจมาจากชื่อนี้ เชื่อว่า Ethan Hunt ทำภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ ต่อให้มันจะเป็นหนัง แต่ก็เป็นความเชื่อหนึ่งที่ผู้ร่วมก่อตั้งและทีมงานทุกคนยึดมั่นไว้ในใจ ว่าไม่มีอะไรที่เขาทำไม่ได้

เขากล่าวว่าทั้งหมดเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาไม่กล้าล้มนาน ไม่กล้าจะลุกช้า อาจจะมีวันที่เข่าอ่อน แต่มีแรงพลังเหล่านี้ฉุดขึ้นมา ตื่นเช้ามาบางทีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง

“ถ้าเราไม่ทำเราจะไปตอบแทนคนที่ชื่นชอบรถเรา คนที่เขาสนับสนุน ต่อให้เขาแค่กดไลค์สำคัญที่สุดเราจะไปพูดกับผู้ร่วมก่อตั้งเรายังไงว่าเราไม่เอาแล้ว เราทำไม่ได้ ทุกคนเหนื่อยล้ามา บางคนมีลูก มีเมีย มีค่าใช้จ่าย มีอะไรหลายอย่าง เราทำงานกันแบบไม่มีเงินเดือนมาตลอด เราไม่เคยได้เงินจาก ETRAN กันเลย ทุกคนก็ยังทำ อดหลับอดนอน เพื่อพิสูจน์ว่ามิชชันนี้มันจะเป็นจริงได้ เลยทำให้ไม่ท้อ”

ESG คือ คุณค่าที่ ETRAN ส่งมอบให้แก่ผู้ใช้งาน

ESG business เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจให้ความสำคัญกับ 3 ส่วน หนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อม (E) ทำอย่างไรให้บริษัทของสร้างผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ การใช้ EV พิจสูจน์แล้วว่าไม่ปลดปล่อยควันพิษออกมา ระหว่างใช้งาน แต่เขาต้องการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ Green Chain ให้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สกปรกประมาณหนึ่ง มีของเสียเกิดขึ้นมากมาย มีพลังงานให้ใช้เยอะ มีเคมี มีวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เยอะมาก

สิ่งที่ ETRAN ลงไปทำในตัว E คือ พยายามสร้าง Green Chain ขึ้นมา หมายถึงการที่เราพยายามใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด มีการพัฒนาพลาสติกร่วมกับ ปตท.จีซี ซึ่งเขาไม่ได้ใช้น้ำมันขึ้นมาผลิต เขาใช้เส้นใยธรรมชาติ (Natural fiber) เป็นส่วนสำคัญในชิ้นงานพลาสติก มีการคุยกับผู้ผลิตในเรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการผลิตว่า อย่างน้อยไลน์การผลิต ETRAN จะต้องคลีน มีการนำพลังงานหมุนเวียน (renewal energy) เข้ามาใช้อย่างมีนัยยะสำคัญในส่วนของการผลิต รวมถึงการใช้งาน นี่คือคุณค่าที่เขาส่งในเรื่องตัว E

Value ในเรื่องของตัว S หรือโซเชียล ETRAN ให้ความสำคัญกับโซเชียลด้วยกัน 3 ด้าน
1) สังคมภายนอก ผู้ใช้งานของเขาต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ EV ต้องประหยัดเงิน กว่าใช้รถธรรมดา ซึ่งแนวความคิดนี้ค่อนข้างชัดเจน

“เราไม่ทำรถหรูรถแพง เราพยายามทำรถให้อยู่กับกลุ่มคนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก พยายามทำเครื่องมือในการทำมาหากินให้กับกลุ่มคนที่เขามีรายได้ปานกลางรายได้น้อย ให้เหลือเงินมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากเส้นความจน”

2) ในส่วนของคอมมิวนิตี้ เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่าฮีโร่ภูมิอากาศ (climate hero) เขาเป็นคนกลุ่มแรกในโลกที่มาใช้พลังสะอาด ทุกคนก็เห็นโลกร้อน มีฝุ่น PM เขาก็หยิบหน้ากากขึ้นมาใส่

“คนพวกนี้เขามีความกล้ามากที่เขาเลือกใช้รถ EV เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นคอมมิวนิตี้ที่เรากำลังสร้างให้แข็งแรง”

และ 3) S สุดท้ายเป็นเรื่องของภายในองค์กร เขาต้องการสร้างบริษัทให้คนที่เขามาทำงานมีประสบการณ์หรือไม่มีประสบการณ์ (ตอนนี้เด็กฝึกงานของเขา เด็กสุดมีอายุประมาณ 14 – 15 ปี) ให้ได้มีโอกาสอยู่ในธุรกิจ อยู่ในองค์กรที่มีเป้าหมายในการทำให้โลกดีขึ้น

“ทำอย่างไรให้วันนึงคนเก่ง ๆ เขาสมองไม่ไหล เขาได้อยู่ในบริษัทในประเทศไทย ที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ความยั่งยืน เราต้องการเป็นบริษัทแบบ Top of Mind เวลาคนที่เขาอยากทำธุรกิจที่ดีต่อโลก อยากให้มอง ETRAN แล้วเราก็ส่งเสริมในการสร้างความหลากหลายในองค์กร มีเพศต่าง ๆ มีอายุ มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อมาสร้างสิ่งที่โลกไม่เคยมีร่วมกัน”

คุณค่าสุดท้าเป็นเรื่องของ ตัว G คือ Governance บริษัทมีผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น มีผู้ส่วนได้ส่วนเสียมากมาย ETRAN ต้องการเป็นบริษัทที่มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อทำให้ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมสบายใจ ว่าบริษัทนี้ไม่ได้เปิดมาเล่น ๆ แต่ต้องเป็นบริษัทที่ชัดเจน มีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ ตอนนี้เขาใช้มาตรฐานบริษัทจดทะเบียน เพราะเขามีนักลงทุนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาถือหุ้นด้วย

“รูปแบบการดำเนินการคงไม่ใช่สตาร์ตอัพวัยรุ่นอีกต่อไป จะเป็นการบริหารงาน ดำเนินการที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ อันนี้เป็นคุณค่าหลัก ๆ ของเราที่เราพยายามทำและสรุปเป็นคำง่าย ๆ เป็น cleanness mobility company”

6 ปีที่ทำมา ทรานส์ฟอร์ม ETRAN อย่างไร

เขาบอกว่า เขาตีลังกามาหลายรอบ อย่างวันแรกที่เริ่มทำ เขาให้ความสำคัญกับรถของพี่วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งในวันนั้นกฎหมายไม่รองรับ จดทะเบียนไม่ได้ ไม่สามารถจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งได้ มีคนถามว่าทำไปแล้วจะจดทะเบียนได้หรือ แต่เขาก็ดื้อทำอยู่ 2-3 ปี จนวางไว้ก่อน แต่ปรากฎว่ารถคันนั้นไปได้รางวัล Red Dot Design Award ที่ประเทศเยอรมันนี ในปี 2020 ETRAN ชนะในหมวด Innovative Product กลายเป็นว่าเมืองนอกเห็นคุณค่า

“เขามองว่าเอามอเตอร์ไซค์มาขนคนนี่เจ๋งมาก เมืองนอกหนาวอาจจะไม่มีรถวินมอเตอร์ไซค์ แต่บ้านเราสภาพอากาศเอื้อต่อการที่วินมอเตอร์ไซค์จะวิ่งได้ ทำให้กำลังกลับมาเปิดตัว Prompt ซึ่งเป็นรถสำหรับวินมอเตอร์ไซค์ต่อไปด้วย”

ตอนนั้นเรากลับมาหาวิธีพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่หลายรอบมาก จากวันแรกที่เราเชื่อเรื่องของการเช่า จนคนไม่เชื่อเราว่าจะเช่ายังไง เราไปพยายามทำรถ ชื่อรุ่นว่า KRAF ซึ่งเป็นตัวที่ค่อนข้างจะไฮเอนด์ และพรีเมียม ไม่ใช่แค่ดีไซน์สวย แต่ต้องผสมผ่านไปกับเทคโนโลยีมากมาย เหมือนอย่างรถยนต์ ต้องมีเทคโนโลยีมากมาย ทำให้เราปรับตัวเองอีกครั้ง ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นทั้ง Deep Tech ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ IoT ใช้เวลาและใช้เงินมาก ทำให้เราเก็บรุ่น KRAF ไว้

จนถึงช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งถือเป็นมุมมืดของเขาอีกครั้งหนึ่ง เขาใช้เงินใช้ทำต้นแบบ เขาเห็นว่าช่วงโควิด บริการส่งอาหาร คนส่วนใหญ่ต้องสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่ารถเขาใช้ส่งอาหารได้ จึงไปค้นแบบที่เคยดีไซน์ไว้ ว่ามีคอนเซ็ปต์รถตัวไหนบ้าง แล้วก็ไปเจอรถขนาดเล็กที่ชื่อว่า ‘Myra’ แปลว่า มดดำตัวเล็ก

สำหรับ ETRAN Myra นั้น เน้นการผลิตที่ถูก ไม่มีอะไรซับซ้อน ดีไซน์เท่ห์เหมือน ETRAN KRAF ไม่ได้เป็นสองเบาะอย่าง ETRAN Prompt แต่เป็นรถคันเล็ก ซึ่งเขาเกิดแนวความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราเอารถคันนี้มาใส่เทคโนโลยีคล้ายกันกับรถรุ่นอื่นให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ดีเราจะผลิตได้เร็ว ซึ่งในช่วงโควิด ต้องเป็นการตัดสินใจที่เร็วว่าเราจะเปลี่ยนแปลง หรือจะตีลังกาอย่างไร เลยหันหัวเรือเปลี่ยนทาง แล้วพุ่งลงไปที่รุ่น ETRAN Myra ซึ่งเป็นรุ่นที่ออกแบบเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ ทุ่มมาทางนี้เต็มที่ จนสามารถได้ดีลกับ SCB Robinhood ก็เป็นการปรับหมุน (Pivot) ทั้งสามรอบของ ETRAN

“ส่วนการทรานส์ฟอร์มผมมองในเรื่องของภายในบริษัท จากเราเป็นบริษัทสตาร์ตอัพ ไม่ได้มีขั้นตอน กระบวนการอะไรมากในการทำงาน อยากทำอะไรก็ทำ อยากโอนเงินก็โอน จนเราหาเงินลงทุน (Raise fund) ใน series A ได้ กระบวนการภายต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย ต้องเปลี่ยนให้เป็นมาตรฐาน เป็นระบบที่นักลงทุนสามารถตรวจสอบได้ โดยใช้มาตรฐานเดียวกับบริษัทจดทะเบียน ทุกวันนี้น่าจะประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์แล้วที่เราสามารถ แปลงระบบจากบริษัทที่ อะไรก็ได้ มาเป็นบริษัทที่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการทำงาน ในการอนุมัติ อำนาจต่าง ๆ แบบบริษัทจดทะเบียน รวมถึงระบบบัญชีหลังบ้านที่ใช้ ERP แล้ว ไม่ได้ใช้ Excel หรือสำนักงานบัญชี เรามีออดิทเข้ามา”

เขากล่าวว่า คำว่าสตาร์ตอัพเป็นชุดความคิดของกลุ่มคนที่ทำอะไรรวดเร็ว พยายามแก้ไขปัญหาที่มันเป็นปัญหาที่ใหญ่ สิ่งที่เขาทำเขาคือ เขากำลังแก้ไขปัญหาของคนทุกคนบนโลกที่ต้องสูดอากาศที่ไม่สะอาดเข้าไปพร้อมกัน แล้วแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด 3 อย่าง พลังงาน ยานยนต์ และเทคโนโลยี ให้เป็นสะพานเชื่อมกันของ 3 ธุรกิจตรงนี้ให้ได้ เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

แผนการขยายธุรกิจของ ETRAN Thailand

สำหรับปี 2565 คุณเอิร์ธวางแผนระดมทุนอีกรอบเป็น Series B ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้ ETRAN ต้องการสร้างความแข็งแกร่งใน 3 จุด คือ
1) เรื่องการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี – ต้องการเพิ่ม ประสิทธิภาพในการแข่งขันผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพราะวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกแบรนด์แข่งกันเรื่องเทคโนโลยี เขาต้องการเพิ่มการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งอาจทำให้เกิดสินค้า บริการใหม่ หรือประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าใหม่ ๆ ออกมา ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีกับองค์กรมากยิ่งขึ้น

2) เรื่องของพลังงาน เขามีแผนขยายโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับจุดสลับแบตเตอรี่มากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นพลังงานทดแทน (Renewable energy) 100% กับธุรกิจของ ETRAN อันนี้ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญ

และ 3) ผลิตภัณฑ์ใหม่ และกลุ่มตลาดใหม่ (New market segment) คือ เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานราก เป็นคนที่อยู่นอกระบบ ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เขาสามารถนำไปใช้ แล้วยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ซึ่งอาจจะเป็นรถไถ เรือ หรืออะไรสักอย่างที่จะเป็นการเปิดตลาดใหม่

“ฉะนั้น อยากให้มองว่า ETRAN ไม่ใช่บริษัทมอเตอร์ไซค์ แต่เราเป็นบริษัทที่ทำยานยนต์สะอาด (cleanness mobility) มากกว่า”

ระบบนิเวศของรถไฟฟ้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เขาทำ เมื่อพยายามเทียบเคียงกับรถ EV เขาอธิบายว่า มีความคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่น่าเสียใจคือในแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทย ยังไม่สนับสนุน 2 ล้อ มีแต่สนับสนุน 4 ล้อ จะเห็นว่าตอนนี้มีตู้ชาร์จรถ EV วิ่งเต็มเมืองแต่พอเป็นเรื่องของสองล้อ ยังไม่อยู่ในแผนของรัฐบาล

“สิ่งที่ ETRAN ทำ คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับตัวเอง สร้างระบบนิเวศของตัวเอง เพื่อทำให้เราเป็นผู้นำในการที่เราต้องเดินไปก่อน ไปถึงจุดที่เรามีประสบการณ์มากที่สุด แล้ววันนั้นเราอาจจะกลายเป็นแกนหลัก เป็นมาตรฐานกลายเป็นต้นแบบเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของเรา ไม่จำเป็นที่จะต้องรออะไร เราจะนำไปก่อน”

ส่วนสำคัญของการขยายระบบนิเวศ คือ การจับมือเป็นพันธมิตร เขาเพิ่งมีการลงนาม MoU กับคาล์เท็กซ์ PTTRM ที่มีความร่วมมือในการที่จะขยายสถานีรับเปลี่ยนแบตเตอรี

“เรามีการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ แต่ถ้าถามว่าใครเป็นคนนำ ETRAN วันนี้เราเป็นวาทยากรของเรื่องนี้อยู่ เราอยู่ในศูนย์กลางของพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ภาครัฐ เราพยายามเป็นผู้กำกับวงออร์เคสตร้าอยู่ ดูอย่าง Tesla เขาก็ลงเองหมด จุดชาร์จของเขา เขาก็มีตัวชาร์จของเขาเอง รวมถึงขยายเรื่องอื่น ๆ เป็นกริดไฟฟ้า (Power grid) ซึ่งเรามองเห็นแนวทางการพัฒนาในลักษณะคล้าย ๆ อย่างนั้น”

เป้าหมายสูงสุดของ ETRAN Thailand

เป้าหมายเชิงธุรกิจ คือ ต้องการทำบริษัทให้เป็น ESG Company ให้ได้อย่างชัดเจน จากรายงานวิจัยของธนาคารทั่วโลก จะเห็นว่านักลงทุน เริ่มย้ายเงิน จากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีนโยบาย ESG ไม่มีความมุ่งมั่นในการทำ ESG มาสู่บริษัทที่คำนึงถึงด้าน ESG

“ในปี 2564 ที่ผ่านมา JP Morgan เห็นเงินย้ายมาในธุรกิจสนใจ ESG ประมาณ 50% ปี 2574 เงินจะย้ายมาถึง 80% ซึ่งเราเลยตั้งใจทำ  ETRAN ให้เป็นบริษัทด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance) ตั้งแต่วันแรกนี่คือเป้าหมายในภาคธุรกิจ

ภาคที่สอง ความฝันของเขา คิดว่าเป็นในภาคของต้นแบบ ETRAN เขาวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้นำเป็นคนริเริ่ม ผมอยากให้ต้นแบบการคิดริเริ่มแบบนี้เกิดขึ้น ต่อยอด หมุนเวียน ในการดำเนินธุรกิจต่อไป คือ ต้องพยายามสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีอย่างต่อเนื่อง

“ไม่ใช่ว่าเราหยุดอยู่แค่วันนี้เรามีรถขายแล้ว ก็ขายมันไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่พัฒนาเรื่องอื่นต่อ เราก็ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กำลังต้นทุนมนุษย์ (human capital) ที่มีคุณภาพ จากแรงมันสมองของเด็กไทย ให้เด็กไทยคนไทยได้มีโอกาสทำงานในบริษัทเทคโนโลยีที่เขาต้องภูมิใจที่ได้อยู่ในบริษัทดี ๆ อย่างนี้”

เป้าหมายที่ 3 คือ เรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ถามว่ามันต่างจาก ESG อย่างไร เมื่ออ้างอิงจากแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDG17 เขาอยากจะเป็นบริษัทที่ช่วยโลก จริง ๆ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เขาอาจทำได้ไม่ครบบริบททั้ง 17 ประเด็น แต่เกินครึ่งเขาเชื่อว่า ETRAN สามารถช่วยได้

“ตัวอย่างเรื่องพลังงานสะอาด เขาเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องเข้าถึงได้กับทุกคน สิ่งที่เราพยายามทำและเราตั้งใจคือ เทคโนโลยีสะอาด ต้องเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม หรือในโมเดลธุรกิจที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งจะแตกต่างจากแนวความคิดการทำรถมาขายมาก ๆ”

เอิร์ธบอกว่า เราจะทำให้เทคโนโลยีสะอาดเข้าถึงได้กับทุกคน หรือในการพัฒนาเรื่อง human capital ทำอย่างไรให้คนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรให้คนสามารถที่จะเข้าถึง re-skill  และ up-skill ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในโลกที่มีเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ การให้ความสำคัญกับ woman empowerment

“บอร์ดบริหาร ETRAN มีความหลากหลายทางเพศ มีผู้หญิงเข้ามา ทั้ง ๆ ที่พูดถึงยานยนต์ควรมีแต่ผู้ชายแต่วันนี้เราพยายามสร้างความเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำในองค์กร รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราสามารถใช้งานได้ทุกเพศทุกวัย ก็จะเป็นส่วนของการสร้างความเท่าเทียม”

แนวโน้มรถยนต์ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย

เอิร์ธ อธิบายว่า ในอีก 2-3 ปีนี้จะเกิดการเคลื่อนตัวของฝั่ง B2B (Business-to-Business) อย่างรวดเร็ว ธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไปเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ทั้งไทยและต่างประเทศ ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงฟลีท (Fleet) หรือรถเช่าสำหรับหน่วยงาน มาเป็น EV นั้นสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ ผู้ประกอบการอาจได้สินค้าที่มีคุณค่าสูงสุด (Top Line Value) ตัวใหม่ ๆ คือการเดินเข้าไปในกลุ่มธุรกิจใหม่

หรือเป็น Bottom  Line Value ช่วยลดต้นทุนอย่างชัดเจน ในการเปลี่ยนแปลงมาใช้รถไฟฟ้า เพราะกลุ่ม B2B หลังโควิด-19 ทุกธุรกิจต้องคิดใหม่ เริ่มต้นใหม่ ว่าโครงสร้างต้นทุนธุรกิจของตัวเอง หรือนวัตกรรมในการให้บริการลูกค้าจะต้องเปลี่ยนแปลงยังไง ซึ่ง EV เป็นคำตอบของบริษัทขนส่งอย่างชัดเจน

ส่วนที่ 2) ที่เขามองเห็นเรื่องการเคลื่อนไหว คือ B2G (Business to Government) ประเทศไทยมีการประกาศใน การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564 หรือ COP26 เรื่องการเป็น Carbon Neutral ในปี พ.ศ.2593 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการสะสมของภาครัฐบาล รวมถึงการใช้เองจากกลุ่มรัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มหันกลับมา มองและพิจารณาในการจัดซื้อจัดจ้างรถไฟฟ้าในการดำเนินงาน

กลุ่ม B2G ที่น่าจะเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน คือไปรษณีย์ไทยซึ่งมีรถเช่าสำหรับหน่วยงานอยู่ประมาณ 15,000 คัน มีความคิดริเริ่มในการที่จะเริ่มศึกษาและทดลองในการเปลี่ยนแปลงมาใช้ EV ซึ่งจากการแนวโน้ม B2B และ B2G จะเห็นว่าอยู่ในกลุ่มตลาดที่ ETRAN อยู่ เป็นกลุ่มประสิทธิภาพการทำงานสูง (high performance) หรือใช้งานหนัก (heavy rider) เป็นส่วนใหญ่

“จากสองแรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนช่องทางสุดท้ายคือ B2C (Business-to-Customer) หลังจากผู้บริโภคทั่วไปได้เห็นการเริ่มใช้งานของรถพลังงานใหม่”

กลุ่ม B2B น่าจะมีอยู่หลักแสนคัน และในระยะประมาณ 4 ปี กลุ่ม B2G น่าจะเติมได้อีกประมาณแสนคัน แล้วใน 5 ปี รวมกลุ่ม กลุ่ม B2C น่าจะถึงเป้าหมายประมาณ 4 แสนคัน

กลุ่มที่ ETRAN อยากจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยที่เน้นไปที่กลุ่มที่ใช้งานหนัก ใช้งานเชิงพาณิชย์ อาจจะเป็นรถ เครื่องบิน เป็นเรือ แต่อยู่ในหมวดของยานยนต์เชิงพาณิชย์

เมื่อใดที่คนทั้งโลกเปลี่ยนไปใช้รถ EV คนทั้งโลกเข้าใจว่าการขนส่งต้องสะอาด โดยที่เขาอาจไม่จำเป็นต้องใช้รถของเราก็ได้ แต่มีอีทรานไปขับเคลื่อน ไปกระตุ้นความเชื่อมั่นของคนให้เขาอยากเปลี่ยน สุดท้ายโลกดีขึ้น เมื่อนั้นถึงมองว่า ETRAN ประสบความสำเร็จ

“วันนี้เรายังไม่สำเร็จ เราอยู่ในช่วงการเรียนรู้ องค์กรของเรา ถึงจะระดมทุนระดับ series A ได้แล้ว เหมือนเราเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย เรียนปริญญาตรี วันนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะไปทิศทางไหน เรากำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ETRAN ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะพัฒนาศักยภาพ ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ทีมของเรามีหัวใจว่าถ้าแข่งต้องชนะ ถ้าเล่นจะต้องเล่นให้ดีที่สุด ผมคิดว่าการที่เราไม่ยอมหยุด การที่เรามุ่งมั่นจะเดินหน้าต่อคือหัวใจสำคัญ ที่ทำให้เราอยู่ถึงวันนี้ได้”

ผิดได้ ล้มได้ แต่ต้องลุกขึ้นก้าวต่ออย่างมั่นใจ

เขา บอกว่ากว่าจะมาถึงวันนี้เขาทำผิดทุกวัน ประเด็นแรกคือ การตัดสินใจของ CEO มันตัดสินใจได้ 2 แบบคือ 1) จากความรู้สึกข้างใจ (Gut Feeling) 2) เอาข้อมูลมาวาง ซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูกว่าครั้งไหนเขาควรจะใช้ความรู้สึกใช้ความเชื่อมั่นว่า ครั้งไหนควรเอาข้อมูลมามองว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น แล้วพิจารณาตามข้อเท็จจริง

ปัจจุบัน ETRAN ตัดสินด้วยอารมณ์มากเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลมากยิ่งขึ้น เป็นช่วงที่เราเรียนรู้ว่า เขาจะสามารถทำข้อมูลในองค์กรมาก ๆ ให้สามารถนำมาสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องได้อย่างไรจุดนี้เป็นสิ่งที่เขาสามารถพัฒนาและปรับปรุงได้

“สิ่งที่ผมผิดพลาดอีก คงเป็นลักษณะที่ว่าเราอาจจะคิดเล็กไปในบางจังหวะ ด้วยความกดดันจากการระดมทุนไม่ได้ จากความกดดันจากปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา ทำให้บางวันเรารู้สึกว่าเราเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากเกินไป คือหัวใจชีตาห์มันต้องอยากล่าสัตว์ใหญ่ คงไม่อยากมากินมดตัวเล็ก ๆ แต่ทำอย่างไรให้เราเป็นหัวใจชีตาห์ได้ทุกวัน บางวันผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นแมว ขี้กลัว หลัง ๆ พยายามขจัดความกลัวออกให้หมด เพราะรู้แล้วว่าเราต้องทำงานด้วยความมั่นใจ ความกล้าจะพาเราไปเส้นชัย อันนี้ก็จะเป็นการฝึกจิตของ CEO”

เขามองว่า ตัวเองไม่ใช่ CEO ที่ดีที่สุด แต่ด้วยตำแหน่ง ความรับผิดชอบกทำให้เขาต้องนั่งอยู่ตรงนี้ เขาไม่ได้เก่งที่สุดในการที่จะทำบริษัทแบบนี้ แต่เขาต้องพยายามที่จะประคับประคอง ETRAN ให้ไปให้ได้

“ทุกวันนี้ผมใช้หลักการทำงานแบบปลูกต้นไม้ 2 แบบ แบบแรกเราปลูกต้นไม้ลงไปในดิน แล้วเราก็ลุ้นว่าต้นไม้จะโตหรือไม่ ไปจับต้นไม้ดูทุกวัน รากงอกหรือยัง ดูเยอะ สุดท้ายต้นไม้ก็เฉามือ และตายไป”

ส่วนการปลูกต้นไม้แบบที่สอง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการที่ต้นไม้จะเติบโตด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน โดยที่เขาเป็นคนควบคุมบรรยากาศให้เหมาะสม ความชื้น ความร้อน แสงแดด น้ำ แล้วต้นไม้ก็จะมีรากแก้วที่ไปของมันเอง เขาเองเป็นคนที่ปลูกต้นไม้แบบที่สอง เน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้ดี แล้วก็ทำให้ทุกอย่างเติบโตโดยธรรมชาติ ให้ต้นไม้แข็งแรงด้วยตัวเอง อันนี้น่าจะเป็นหลักการในการบริหารงาน

สำหรับหลักในการการบริหารปัญหา เขาต้องพยายามแบ่งให้ได้ว่า เรื่องไหนเป็นปัญหา เรื่องไหนเป็นวิกฤติ ซึ่งการรับมือคงไม่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นไฟลุกตลอดทั้งองค์กร น้ำไม่ไหลไฟดับ เป็นปัญหาหรือไม่ในวันที่เรื่องราวต่าง ๆ ของ ETRAN เริ่มวุ่นวาย เขาต้องพยายามจัดหมวดหมู่ และกำหนดเรื่องต่าง ๆ  ในแต่ละวัน เพื่อให้ได้คำตอบในฐานะ CEO ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ …

ขอบคุณบทความจาก : The Story Thailand

ETRAN ให้คุณได้ขับขี่ อย่างมั่นใจในทุกเส้นทาง

​​ใครสนใจรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN MYRA สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก

เป็นเจ้าของ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN MYRA ได้แล้ว

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโลกที่ดีกว่าด้วยรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อความยั่งยืนกับพวกเรา ETRAN

For more information
Facebook Page ETRAN : ETRAN
Facebook Group ETRAN : ETRAN TRIBE – ชาวอีทราน
Instagram Etran Thailand : etran_thailand
LINE Official Etran Thailand : @etran
YouTube Etran Thailand : Etran Thailand

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

กรุงศรีต่อยอด Mobility Ecosystem จับมือเป็นพันธมิตร ShopeeFood และ ETRAN มอบสิทธิพิเศษให้กับไรเดอร์ ShopeeFood ที่สมัครและชำระค่าเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Myra จาก ETRAN ผ่านบัญชีกรุงศรี กับแพคเกจ เช่าไม่ร่า…ขับมั้ยล่ะ

แคมเปญ เช่าไม่ร่า…ขับมั้ยล่ะ เป็นความร่วมมือสุดพิเศษระหว่างกรุงศรี ShopeeFood และ ETRAN ในการนำเสนอแพคเกจเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อส่งอาหารของกลุ่มไรเดอร์ของ ShopeeFood และเป็นการเตรียมรับดีมานด์การสั่งอาหารเดลิเวอรีในช่วงมหกรรม Shopee 9.9 วันช้อปแห่งปี : Super Shopping Day ที่กำลังจะมาถึง

อ่านต่อ

ETRAN MYRA รองรับระบบ FLEET ตอบโจทย์ธุรกิจขนส่ง เพื่อการขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อ “ข้อมูลการขับขี่” คือสิ่งที่สำคัญที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ ETRAN จึงออกแบบรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า MYRA รุ่นเช่า ให้สามารถรองรับการติดตั้ง Sensor อุปกรณ์เสริมสำหรับการส่งข้อมูลการขับขี่ ซึ่งสามารถตรวจจับการใช้งานของผู้ขับขี่ได้ อาทิเช่น ความเร็ว ระยะทางการวิ่ง ให้สอดรับกับแนวคิด “Design for Delivery” โดยส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์ข้อมูลส่วนกลางของ ETRAN เพื่อศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ของพี่ๆ ไรเดอร์ และนำข้อมูลมาบริหารแผนธุรกิจเพื่อกลุ่มธุรกิจขนส่งโดยเฉพาะ

อ่านต่อ
หลังจาก ETRAN ผ่านการระดมทุนในรอบ Series A มากกว่า 10 เดือน ได้นำเงินมาพัฒนาไลน์การผลิตเพื่อผลิตรถออกสู่ตลาดตามเป้าหมาย 5,000 คันภายในปี 2022 อีกส่วนหนึ่งนำมาใช้สร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swap Station) สร้างทีมที่จะมารองรับ Operation ที่จะเกิดขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ B2B ไปในตลาดที่ยังไม่มีใครทำ และยังคงศึกษาเพื่อจะเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ให้เป็นวัสดุรักษ์โลก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นส่วนผสมของ 3 อุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกคือ พลังงาน ยานยนต์ และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งพลังงานและยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หากแต่มีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างช้า จากการที่ต้องใช้การลงทุนมหาศาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องลงทุนเพื่อให้รองรับการเกิดขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า รวมถึงการสร้างบุคลากรทั้งด้านการผลิตและการให้บริการหลังการขาย

ETRAN in เชียงใหม่

MYRA

คันนี้ไว้ใจได้

ETRAN in เชียงใหม่

MYRA

คันนี้ไว้ใจได้